ระบบเศรษฐกิจคืออะไร และมีกี่ประเภท

  Posted on 3 years ago (Oct 27, 2020)
2314
List of content
ระบบเศรษฐกิจคืออะไร และมีกี่ประเภท

ระบบเศรษฐกิจ หมายถึง การรวมตัวกันเป็นกลุ่มของหน่วยเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยบุคคล หรือสถาบันที่ทำหน้าที่เฉพาะอย่างในทางเศรษฐกิจ ใช้หลักการแบ่งงานกันทำตามความถนัด มีการปฏิบัติภายใต้ระเบียบ กฎเกณฑ์ นโยบาย และ แนวทางการปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน หน่วยเศรษฐกิจ คือ หน่วยงานที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ จะทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจอันได้แก่การผลิต การบริโภค และ การแจกจ่ายสินค้า และ บริการ

ระบบเศรษฐกิจแบ่งออกเป็น 4 ระบบ ดังนี้

1.ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ (Communism)

ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ เป็นระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของทรัพยากรต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งรวมทั้งปัจจัยการผลิตทุกชนิด เอกชนไม่มีกรรมสิทธิ์ ตลอดจนเสรีภาพที่จะเลือกใช้ปัจจัยการผลิตได้ รัฐบาลทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบการ และ ทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ให้กับหน่วยธุรกิจ และ ครัวเรือน การผลิตและบริโภคมาจากคำสั่งของรัฐ กลไกราคาไม่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจกระทำโดยรัฐบาล จะมีลักษณะเด่นอยู่ที่การรวมอำนาจทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลาง

ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์

1. เป็นระบบเศรษฐกิจที่ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะและรายได้ของบุคคลในสังคม

2. ระบบเศรษฐกิจนี้เอกชนจะทำการผลิต และ บริโภคตามคำสั่งของรัฐ

3. ผลผลิตที่ผลิตขึ้นมาจะถูกนำส่งเข้าส่วนกลาง และ รัฐจะเป็นผู้จัดสรรหรือแบ่งปัน สินค้าและบริการดังกล่าวให้ประชาชนแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการได้เปรียบหรือเสียเปรียบ

ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์

1. ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการเลือกสรรบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ ตามความพอใจของตน เพระรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดสินค้าและบริการต่าง ๆ ให้ประชาชนเป็นผู้บริโภคตามความเหมาะสมและความจำเป็นเท่านั้น

2. ประชาชนไม่มีกรรมสิทธิ์ในการถือครอง และ เป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งสามารถนำไปผลิตสินค้า และ บริการต่าง ๆ หรือนำไปแสวงหารายได้ เช่น ที่ดิน โรงงาน เครื่องจักร ฯลฯ

3. ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการเลือกทำงานหรืออาชีพตามอำเภอใจเพราะรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดการทำงาน และ ค่าจ้างให้แก่ประชาชนตามความสามารถ ประชาชนจึงมีสภาพเป็นลูกจ้างของรัฐบาลทุกคน

4. สินค้ามีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากผู้ผลิตขาดแรงจูงใจ และ การใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอาจเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถที่จะมีข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์ในทุก ๆ เรื่อง

 

2. ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism)

ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจที่เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเลือกตัดสินใจดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามความสามารถและโอกาสของตนโดยอาศัยตลาดและราคาในการเลือก โดยรัฐหรือเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางมีบทบาทเกี่ยวข้องน้อยมาก

ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

1. ทรัพย์สินและปัจจัยการผลิตเป็นของเอกชน

2. เอกชนเป็นผู้ดำเนินการกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยผ่านกลไกราคา และ มีกำไรเป็นแรงจูงใจ

3. มีการแข่งขันเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจ

4. รัฐไม่เข้าแทรกแซงทางเศรษฐกิจ มีบทบาทเพียงการรักษาความสงบเรียบร้อย ความยุติธรรม

5. ประชาชนสามารถใช้ความรู้ความสามารถ โอกาส ความคิดริเริ่ม ของตนในการผลิตและบริโภคเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนได้อย่างเต็มที่

ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

1. เนื่องจากความสามารถ และ โอกาสของบุคคลที่แตกต่างกัน ทำให้มีระดับรายได้แตกต่างกัน นำไปสู่ปัญหาการกระจายรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจน

2. การผลิตในระบบทุนนิยมเป็นที่มาของการแข่งขันกันผลิต นำไปสู่การทำลายทรัพยากร และ สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติจนกลายเป็นปัญหาของโลกในปัจจุบัน

 

3. ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเสรี (Socialism)

ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจที่รัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต วางแผนและควบคุมการผลิตบางประเภท โดยเฉพาะการผลิตที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชน เช่น การสาธารณูปโภค ต่าง ๆ สถาบันการเงิน ป่าไม้ เอกชนถูกจำกัดเสรีภาพในกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะส่วนที่เป็นผลประโยชน์ของส่วนรวม ดำเนินการได้เพียงอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมขนาดย่อม ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาความแตกต่างด้านฐานะระหว่างคนรวยและคนจน

ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม

  1. รัฐควบคุมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีการวางแผนจากส่วนกลาง
  2. ความเสมอภาคด้านฐานะทางเศรษฐกิจของบุคคลในสังคม ประชาชนได้รับสวัสดิการจากรัฐบาลกลางโดยเท่าเทียมกันและสามารถกำหนดนโยบายเป้าหมายตามที่รัฐบาลกลางต้องการได้

ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม

  1. ประชาชนขาดแรงจูงใจในการทำงาน
  2. เศรษฐกิจของประเทศอาจเผชิญวิกฤติหากรัฐกำหนดความต้องการผิดพลาด
  3. การไม่มีระบบแข่งขันแบบทุนนิยมทำให้ไม่มีการพัฒนาสินค้า และ บริการใหม่ๆ 

 

4. ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy)


ระบบเศรษฐกิจแบบผสม เป็นระบบเศรษฐกิจที่ผสมระหว่างระบบทุนนิยมกับสังคมนิยม มีรัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตหรือควบคุมการผลิตขนาดใหญ่ แต่ปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่เป็นของเอกชน การกำหนดราคาขึ้นกับกลไกแห่งราคาของตลาด เอกชนมีเสรีภาพ มีการแข่งขัน แต่รัฐอาจแทรกแซง การผลิตได้บ้าง รัฐดำเนินกิจการบางอย่างในรูปของรัฐวิสาหกิจ เช่น สาธารณูปโภค ( ไฟฟ้า ประปา ) มีการวางแผนจากส่วนกลางและมีสวัสดิการจากรัฐ

ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบผสม

1. เป็นการยกฐานะของคนในสังคมให้เท่าเทียมกันและเป็นการแลกเปลี่ยนแปลงจากทุนนิยมเป็นแบบสังคมนิยม โดยสันติวิธีทางรัฐสภา

2. รายได้ถูกนำมาเฉลี่ยให้ผู้ทำงานตามกำลังงานที่ได้กระทำ มิใช่ตามความจำเป็นทำให้แรงจูงใจในการทำงานจึงดีกว่าระบบอื่น ๆ

3. เอกชนมีบทบาททางเศรษฐกิจ มีการแข่งขันสูง สินค้าจึงมีคุณภาพสูง

4. ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกสินค้าได้มากพอสมควร

ข้อเสียระบบเศรษฐกิจแบบผสม

1. ระบบนี้มีการวางแผนเพียงบางส่วน จึงอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในกรณีที่ต้องการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เช่น ยามสงคราม

2. การควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนโดยรัฐ เป็นเครื่องกีดขวางเสรีภาพของเอกชน

3. การวางแผนจากส่วนกลางเพื่อประสานประโยชน์ของรัฐบาลเข้ากับเอกชนให้เกิดผลดีแก่ส่วนรวมอย่างแท้จริงทำได้ยาก

4. นักธุรกิจขาดความมั่นใจในการลงทุน เพราะไม่แน่ใจว่าในอนาคตกิจกรรมของตนจะถูกโอนเป็นของรัฐหรือไม่

 

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

สามารถศึกษาความรู้เพิ่มเติมดังนี้

คอร์สเรียนสำหรับมือใหม่ ฟรี!! : คลิกที่นี่

คลังบทความความรู้เพิ่มเติม : คลิกที่นี่

บทความรีวิวโบกเกอร์เพิ่มเติม : คลิกที่นี่

บทวิเคราะห์รายวัน : คลิกที่นี่


บทความ แนะนำ
คอร์สเรียน Forex ยอดนิยม