ค่าเงินแข็งค่าหรืออ่อนค่าเกิดจากอะไร ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

  Posted on 3 years ago (May 29, 2020)
2605
List of content
ค่าเงินแข็งค่าหรืออ่อนค่าเกิดจากอะไร ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

ค่าเงิน (มูลค่าของเงิน) คือ อำนาจในการซื้อสินค้าและบริการ หรืออำนาจในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่เรียกว่า “เงินแข็งค่าและเงินอ่อนค่า” โดยสาเหตุหลักเกิดจากปริมาณความต้องการและปริมาณเงินสกุลนั้น ๆ ซึ่งค่าเงินถือว่ามีความสำคัญกับนักลงทุนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักลงทุนในตลาด Forex ที่เป็นตลาดทำการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ดังนั้น ทางทีมงานจึงได้เขียนบทความขึ้นมา โดยได้กล่าวถึงตั้งแต่ความหมาย, ปัจจัยที่ทำให้เกิดเงินแข็งค่าและเงินอ่อนค่า รวมถึงเงินแข็งค่าและเงินอ่อนค่า ส่งผลกระทบต่ออะไรบ้าง

 

เงินแข็งค่า เงินอ่อนค่า คืออะไร?

1. เงินแข็งค่า คือ มูลค่าของเงินสกุลหนึ่ง มีค่ามากขึ้นจากเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่ง 
ตัวอย่างเช่น

- 5 ปีที่แล้วจำนวนเงิน 36 บาทมีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ 
- ปัจจุบันจำนวนเงิน 35 บาทมีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ 

จากตัวอย่าง ปัจจุบันเราใช้เงินบาทแลก 1 ดอลลาร์สหรัฐด้วยจำนวนเงินที่น้อยลง แสดงว่าเงินบาทมีค่ามากขึ้น หรือที่เรียกว่า เงินแข็งค่า

 

2. เงินอ่อนค่า คือ มูลค่าของเงินสกุลหนึ่ง มีค่าน้อยกว่าเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่ง 

ตัวอย่างเช่น

- 5 ปีที่แล้วจำนวนเงิน 35 บาทมีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
- ปัจจุบันจำนวนเงิน 36 บาทมีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

 

จากตัวอย่าง ปัจจุบันเราใช้เงินบาทแลก 1 ดอลลาร์สหรัฐด้วยจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น แสดงว่าเงินบาทมีค่าน้อยลง หรือที่เรียกว่า เงินอ่อนค่า 


สาเหตุที่ทำให้เกิดเงินแข็งค่าและเงินอ่อนค่า 

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดเงินแข็งค่าและเงินอ่อนค่า คือ ปริมาณความต้องการเงินและปริมาณเงินสกุลนั้น ๆ โดยแบ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ดังนี้ 

1. อัตราดอกเบี้ย

อัตราดอกเบี้ย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าเงิน เพราะเป็นสิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน หากประเทศใดมีการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย เงินทุนจะไหลเข้าประเทศ และส่งผลให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น ประเทศไทยมีการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงกว่าสหรัฐอเมริกา นักลงทุนจึงย้ายเงินดอลลาร์สหรัฐ มาเปลี่ยนเป็นเงินบาท เพราะนักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า เงินบาทจึงมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น และมูลค่ามากขึ้นหรือที่เรียกกันว่า “เงินแข็งค่า”  นั่นเอง

2. ดุลการค้าและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ

ดุลการค้ามีความเกี่ยวข้องกับค่าเงินโดยตรง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การเกินดุลการค้า เกิดจากประเทศไทยมีการส่งออกมากกว่าการนำเข้า ส่งผลให้มีสกุลเงินต่างประเทศมากขึ้น และเงินต่างประเทศก็ถูกแลกเป็นเงินบาท ส่งผลให้ความต้องการเงินบาทมากขึ้น ส่วนการขาดดุลการค้า เกิดจากประเทศมีการนำเข้ามากกว่าการส่งออก เงินจึงมีการเคลื่อนย้ายออกจากประเทศ เงินบาทจึงถูกแลกเป็นเงินต่างประเทศ ทำให้ความต้องการเงินบาทลดลง 

 
3. นโยบายธนาคารกลาง 
ธนาคารกลาง เป็นธนาคารที่นักลงทุนต่างจับตามอง เนื่องจากธนาคารกลางมีหน้าที่ออกนโยบายควบคุมเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น ถ้าประเทศไทยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงเกินไป ธนาคารกลางจึงออกนโยบายในการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยกู้ได้น้อยลง ดังนั้น ปริมาณเงินในประเทศจึงลดลง ซึ่งเปรียบเสมือนการลดอุปทานและปริมาณของเงิน ทำให้ค่าเงินของประเทศมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น 

4. สถานการณ์ภายในประเทศ และปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อ “ค่าเงิน”
นอกจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อค่าเงิน เช่น ความไม่มั่นคงทางการเมือง, ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ, ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ เป็นต้น 

เงินแข็งค่า เงินอ่อนค่า ส่งผลกระทบต่ออะไรบ้าง? 

1. การนำเข้าและการส่งออก 

ค่าเงิน ถือว่ามีกระทบต่อการนำเข้าและการส่งออก ยกตัวอย่างเช่น ค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น โดยปกติแล้วสินค้า 1 ชิ้นสามารถจำหน่ายให้ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ในราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐมีค่าเท่ากับ 36 บาท แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปสินค้าราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่าเดิม แต่มูลค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้น คือ 1 ดอลลาร์สหรัฐมีค่าเท่ากับ 35 บาท ดังนั้น จึงทำให้ผู้ส่งออกได้กำไรน้อยลง 1 บาทนั่นเอง 


2. การท่องเที่ยว
เงินแข็งค่า หรือเงินอ่อนค่า ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เช่น นักท่องเที่ยวชาวอเมริกามองเห็นว่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างมาก เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวประเทศไทย เพราะเงินดอลลาร์สหรัฐแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้นนั่นเอง 

3. นักลงทุน 

มูลค่าของเงินก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนควรจับตามอง เนื่องจากค่าเงินบ่งบอกถึงภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันของประเทศนั้น ๆ โดยเฉพาะตลาด Forex เนื่องจากเป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งนักลงทุนใช้วิเคราะห์ก่อนตัดสินใจเทรด 

 

กล่าวโดยสรุป ค่าเงิน คือ อำนาจในการซื้อสินค้าและบริการ หรืออำนาจในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่เรียกว่า เงินแข็งค่าและเงินอ่อนค่า ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น อัตราดอกเบี้ย, ดุลการค้า, นโยบายธนาคารกลาง รวมถึงสถานการณ์ภายในประเทศ ซึ่งเงินแข็งค่าและเงินอ่อนค่า ส่งผลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ, การนำเข้าและการส่งออก, การท่องเที่ยว รวมทั้งนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนในตลาด Forex ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องติดตามคู่เงินของประเทศที่ตนเองเทรด โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่เป็นสกุลเงินที่ได้รับความนิยมในการเทรด นอกจากนี้ เราต้องติดข่าวสารที่ส่งผลต่อค่าเงินประเทศนั้น ๆ ด้วย เพื่อที่เราจะทำการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเงิน ก่อนตัดสินใจเทรด 

 

 

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สามารถศึกษาความรู้เพิ่มเติมดังนี้

คอร์สเรียนสำหรับมือใหม่ ฟรี!! : คลิกที่นี่

คลังบทความความรู้เพิ่มเติม : คลิกที่นี่

บทความรีวิวโบกเกอร์เพิ่มเติม : คลิกที่นี่

บทวิเคราะห์รายวัน : คลิกที่นี่


บทความ แนะนำ
คอร์สเรียน Forex ยอดนิยม